จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันจันทร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2562

'' มหัศจรรย์เเห่งเเฟนซีสีม่วง 111 '' สร้างอาชีพ-เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร




'' มหัศจรรย์เเห่งเเฟนซีสีม่วง 111 '' สร้างอาชีพ-เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร


ข้าวโพดเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรเป็นจำนวนมาก ดังนั้นเพื่อเพิ่มความหลากหลายของข้าวโพด บริษัท แปซิฟิคเมล็ดพันธุ์ จำกัด ได้ผสมสายพันธุ์ข้าวโพดมากมายหลายพันธุ์ จนได้ข้าวโพดข้าวเหนียวสีม่วงลูกผสม แฟนซี 111  จึงเปิดตัวขึ้นที่ศูนย์นานาชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2554 โดยมี รศ.อาคม กาญจนประโชติ ที่ปรึกษาอธิการบดีม.แม่โจ้ เกษตรกรผู้ปลูก และตัวแทนร้านค้าผู้จำหน่ายเมล็ดพันธุ์ในจังหวัดเชียงใหม่เข้าร่วมเปิดตัว


คุณยงค์ยุทธ ปานสูง กรรมการบริหารบริษัท แปซิฟิค เมล็ดพันธุ์ จำกัด กล่าวว่า ข้าวโพดข้าวเหนียวสีม่วง ที่ผลิตได้เป็นพันธุ์ลูกผสมสีม่วง สามารถผลิตเพื่อการค้าได้ มักนำไปทำแป้งและอุตสาหกรรมขนม แต่พันธุ์ข้าวโพดข้าวเหนียวสีม่วงที่บริษัทผลิตออกมา สามารถนำไปใช้เพื่อการบริโภคฝักสด มีคุณสมบัตินุ่ม หวาน เหนียว และที่สำคัญ สีม่วงของข้าวโพดมีสารแอนโทไซยานินค่อนข้างสูง จากการวิจัยของนักวิชาการที่มีบันทึกไว้มีจำนวนมาก ซึ่งสารสีม่วงมีประโยชน์ต่อร่างกายอีกมาก


คุณไพศาล หิรัญมาศสุวรรณ ผู้จัดการงานปรับปรุงพันธุ์พืช (ข้าวโพดฝักสด ผู้วิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวโพดข้าวเหนียวสีม่วง แฟนซี 111) บริษัท แปซิฟิค เมล็ดพันธุ์ จำกัด เปิดเผยว่า ย้อนหลังไปประมาณ 7-8 ปี ได้เข้าร่วมสัมมนาทางวิชาการข้าวโพดข้าวฟ่างแห่งชาติ มีการรายงานการวิจัยจากมหาวิทยาลัยราชมงคลล้านนา ถึงการใช้เมล็ดข้าวโพดไร่สีม่วงเพื่อการเลี้ยงไก่พื้นเมือง ซึ่งผลการวิจัยพบว่า เมล็ดข้าวโพดไร่สีม่วงสามารถเร่งอัตราเจริญเติบโตของไก่ และยังทำให้ไก่มีสุขภาพแข็งแรงไม่เป็นโรค จึงมีความคิดว่า หากพัฒนาพันธุ์ข้าวโพดฝักสด เช่น ข้าวโพดข้าวเหนียวให้มีสีม่วง เพื่อใช้เป็นอาหารเพื่อสุขภาพสำหรับบุคคลทั่วไปน่าจะได้รับความนิยมและเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคในการรักษาสุขภาพให้แข็งแรง
       
จากนั้นจึงดำเนินการขอพันธุ์ข้าวโพดสีม่วงจากมหาวิทยาลัยราชมงคลล้านนา เพื่อนำมาใช้เป็นเชื้อพันธุกรรมในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดข้าวเหนียวสีม่วง โดยนำเชื้อพันธุกรรมข้าวโพดสีม่วงผสมเข้ากับข้าวโพดข้าวเหนียวของโครงการปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดฝักสด บริษัทแปซิฟิค เมล็ดพันธุ์ จำกัดได้พัฒนาขึ้นมาอยู่แล้ว จากนั้นทำการสกัดสายพันธุ์แท้จากคู่ผสมของเชื้อพันธุกรรมทั้งสอง ตามขบวนการปรับปรุงพันธุ์แบบวิธี conventional breeding method จนได้สายพันธุ์แท้ข้าวโพดข้าวเหนียวสีม่วง

จากนั้นนำสายพันธุ์แท้ข้าวโพดข้าวเหนียวสีม่วงผสมกับสายพันธุ์แท้ข้าวโพดข้าวเหนียวที่โครงการมีอยู่แล้ว เพื่อสร้างพันธุ์ข้าวโพดข้าวเหนียวสีม่วงลูกผสมขึ้นมา ซึ่งได้พันธุ์ข้าวโพดข้าวเหนียวลูกผสม แล้วนำมาทำการทดสอบผลผลิตและคุณภาพฝักสด (ความเหนียว ความนุ่ม และรสชาติ) โดยใช้เวลาในการทดสอบทั้งในสถานีวิจัยและในแปลงของเกษตรกรเป็นเวลา 3-4 ปี จนสามารถคัดเลือกพันธุ์ข้าวโพดข้าวเหนียวลูกผสมออกมาได้ คือ พันธุ์ข้าวโพดข้าวเหนียวสีม่วง แฟนซี 111 ที่ให้ผลผลิตสูง คุณภาพฝักสดดีเยี่ยมและยังปรับตัวได้ดีในสภาพแปลงเกษตรกรอีกด้วย รวมระยะเวลาตั้งแต่การพัฒนาสายพันธ์แท้จนสามารถคัดเลือกพันธุ์ออกมาได้ ซึ่งใช้เวลาในการพัฒนา 6-7 ปี

ขั้นตอนสำคัญของการพัฒนาพันธุ์ข้าวโพดข้าวเหนียวลูกผสม คือ การทดสอบพันธุ์ลูกผสมที่สร้างขึ้นมา การทดสอบมีทั้งผลผลิตและคุณภาพฝักสด ได้แก่ ความเหนียว ความนุ่ม และรสชาติ การทดสอบใน 2 ปีแรกเป็นการทดสอบในสถานีวิจัยเพื่อคัดเลือกพันธุ์ข้าวโพดข้าวเหนียวที่มีศักยภาพในการให้ผลผลิตสูงและมีคุณภาพฝักสดดี ในปีที่ 3-4 เป็นการทดสอบพันธุ์ลูกผสมที่ผ่านการคัดเลือกจากในสถานีวิจัย โดยทำการทดสอบในสภาพแปลงของเกษตรกรจำนวนประมาณ 30-40 แห่งต่อปี โดยพันธุ์ที่สามารถให้ผลผลิตสูงและมีคุณภาพฝักสดดีเด่นจะถูกคัดเลือกเพื่อจำหน่ายเป็นการค้าต่อไป

ข้าวโพดข้าวเหนียวสีม่วงลูกผสม แฟนซี 111 มีจุดเด่นในเรื่องของการให้ผลผลิตที่สูงและมีคุณภาพฝักสดดีเยี่ยม สามารถให้ผลผลิตทั้งเปลือกสูงกว่า 2,500 กิโลกรัมต่อไร่และฝักมีขนาดใหญ่ นอกจากจะเหนียวนุ่มแล้วรสชาติยังมีความหวาน สามารถปรับตัวได้ดีในสภาพแปลงเกษตรกรทั่วไป
       
พันธุ์ข้าวโพดข้าวเหนียวสีม่วงลูกผสม แฟนซี 111 เมล็ดมีสีม่วงเข้ม แสดงว่ามีสารแอนโทไซยานิน (anthocyanins) นักวิทยาศาสตร์ทั้งในสหรัฐอเมริกาและในยุโรปหลายท่านได้ทำการศึกษาวิจัยประโยชน์ของแอนโทไซยานินและพบว่า สารแอนโทไซยานินมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งคุณสมบัติดังกล่าวมีสูงกว่าวิตามินซีหลายพันเท่า ประโยชน์ของแอนโทไซยานินมีมากมายซึ่งสามารถพบเห็นได้ตามวารสารทางการแพทย์ ดังนั้น การรับประทานข้าวโพดข้าวเหนียวสีม่วงเป็นประจำจึงเปรียบเสมือนกับการได้รับสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ ร่างกายจะแข็งแรงและปราศจากโรคภัยต่างๆ

คุณไพศาล กล่าวเพิ่มเติมว่า ข้าวโพดข้าวเหนียวแฟนซีสีม่วง 111 เป็นพันธุ์ข้าวโพดข้าวเหนียวเพื่อสุขภาพ เพราะมีสารแอนโทไซยานินที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายในการป้องกันการเกิดโรคต่างๆ ซึ่งในปัจจุบันนี้อาหารเสริมเพื่อสุขภาพมีจำหน่ายมากมายและล้วนมีราคาแพง ข้าวโพดข้าวเหนียวแฟนซีสีม่วง สามารถรับประทานเป็นประจำเพื่อเป็นอาหารเสริมเพื่อสุขภาพนอกจากนี้ยังมีราคาถูกกว่าอาหารเสริมอื่นๆ

จากการทดสอบพันธุ์ในแปลงเกษตรกรหลายแห่งได้แก่ อำเภอบ้านหมอ จังหวดสระบุรี, อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี, อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ พบเกษตรกรให้การยอมรับในเรื่องผลผลิต และเมื่อนำไปจำหน่ายในตลาดปรากฏว่าได้รับการยอมรับอย่างสูงจากผู้บริโภค โดยเกษตรกรสามารถขายฝักของพันธุ์แฟนซีสีม่วง 111 ได้ในราคาสองเท่าของราคาตลาด ด้วยรสชาติที่ทั้งเหนียว นุ่มและมีรสหวาน

คุณดวงกมล ใจสะอาด ผู้รวบรวมผลผลิต และจำหน่ายข้าวโพดข้าวเหนียวสีม่วง แฟนซี 111 เล่าว่า เคล็ดลับในการทำให้ข้าวโพดข้าวเหนียวสีม่วง แฟนซี 111 น่ารับประทาน หอมหวาน เหนียวนุ่ม เมล็ดเต่งตึง และคงคุณค่าทางอาหารอย่างเต็มเปี่ยม มีขั้นตอนง่ายๆ ดังนี้

นำฝักข้าวโพดสีม่วง (ข้าวโพดสีม่วง ที่เก็บเกี่ยวช่วงอายุ 67-70 วัน จะมีรสชาติดีที่สุด) ปอกเปลือกหุ้มฝักออก โดยให้เหลือเปลือกหุ้มฝักติดกับฝักประมาณ 2-3 ชั้น เพื่อรักษาสารแอนโทไซยานินให้คงอยู่ในเมล็ด และทำให้เมล็ดมีความเต่งตึงน่ารับประทาน เตรียมหม้อนึ่ง และใส่น้ำ/ต้มน้ำให้เดือด นำฝักข้าวโพดที่เตรียมไว้ตามข้อ 1 วางเรียงลงในหม้อนึ่งที่น้ำเดือดแล้ว ปิดฝาใช้เวลา นึ่งประมาณ 25-30 นาที เมื่อครบ 25-30 นาที จึงนำออกมารับประทาน หรืออาจปรุงรสด้วยเกลือ เล็กน้อย เพื่อรสชาติก่อนนำไปบริโภคก็ได้  สารแอนโทไซยานิน มีสีม่วง ละลายได้ดีใน

ความเย็น ดังนั้น ควรปล่อยให้ฝักข้าวโพด สีม่วงที่ต้มเย็นลงในระดับอุ่น  ๆ  ก่อนรับประทาน จะทำให้สีไม่ติดมือ และรสชาติรวมทั้งคุณค่าทางอาหารยังคงเดิม

คุณปราณี  เสนาจิต เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดข้าวเหนียวสีม่วง แฟนซี 111 อยู่บ้านทุ่งสีทอง ต.ขี้เหล็ก อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า การปลูกเพื่อให้ได้ผลผลิตสูงและคุณภาพดี เริ่มจากการเตรียมดิน ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจของการปลูกข้าวโพดข้าวเหนียวให้ได้ผลผลิตสูง  เพราะถ้าดินมีสภาพดีเหมาะกับการงอกของเมล็ดจะทำให้มีจำนวนต้นต่อไร่สูง  ผลผลิตต่อไร่ก็จะสูงตามไปด้วยการเตรียมดินที่ดีควรมีการไถดะและทิ้งตากดินไว้ 3-5 วัน จากนั้นจึงไถแปรเพื่อย่อยดินให้     แตกละเอียดไม่เป็นก้อนใหญ่เหมาะกับการงอกของเมล็ด ควรมีการหว่านปุ๋ยคอก เช่น ปุ๋ยขี้ไก่  อัตราประมาณ 1 ตันต่อไร่ก่อนการไถแปร เพื่อเป็นการปรับปรุงโครงสร้างของดินให้ดีขึ้นสามารถอุ้มน้ำได้นานขึ้น และยังเป็นการเพิ่มธาตุอาหารให้กับข้าวโพด

การปลูกข้าวโพดให้เป็นแถว  สามารถปลูกได้สองวิธี คือ

การปลูกแบบแถวเดี่ยว ระยะระหว่างแถว 75 เซนติเมตร ระยะระหว่างต้น 20-25 เซนติเมตร ปลูกหลุมละ 1 ต้น จำนวนต้นต่อไร่ประมาณ 7,000-8,500 ต้น จะใช้เมล็ดประมาณ 2-3 กิโลกรัมต่อไร่

การปลูกแบบแถวคู่ มีการยกร่องสูง  ระยะระหว่างร่อง 120 เซนติเมตร ปลูกเป็นสองแถวข้างร่อง ระยะห่างกัน 30 เซนติเมตร ระยะระหว่างต้น 25-30 เซนติเมตร 1 ต้นต่อหลุม จะมีจำนวนต้นประมาณ 7,000-8,500 ต้นต่อไร่และใช้เมล็ดประมาณ 2-3 กิโลกรัมต่อไร่ การให้น้ำจะปล่อยน้ำตามร่องซึ่งเป็นวิธีที่สะดวกดี

การใส่ปุ๋ย ข้าวโพดเหนียวมีขั้นตอนดังนี้

การใส่ปุ๋ยรองพื้น สูตรปุ๋ยที่แนะนำคือ 15-15-15 หรือ 25-7-7 หรือ 16-16-8  อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่  ใส่พร้อมปลูกหรือใส่ขณะเตรียมดิน ถ้าปลูกด้วยมือจะหยอดปุ๋ยที่ก้นหลุมแล้วกลบดินบางๆ ก่อนหยอดเมล็ด โดยไม่ให้ปุ๋ยสัมผัสกับเมล็ดโดยตรงเพราะอาจทำให้เมล็ดเน่าได้

การใส่ปุ๋ยแต่งหน้าครั้งที่ 1 สูตรปุ๋ยที่แนะนำคือ 46-0-0 (ยูเรีย) อัตรา 25-30 กิโลกรัมต่อไร่ ใส่เมื่อข้าวโพดมีอายุ 20-25 วันหลังปลูก โรยข้างต้นในขณะดินมีความชื้นหรือให้น้ำตาม หรือพูนโคนกลบปุ๋ยก็จะเป็นการกำจัดวัชพืชไปในตัว

 การใส่ปุ๋ยแต่งหน้าครั้งที่ 2 เมื่อข้าวโพดมีอายุ 40-45 วันหลังปลูก ถ้าแสดงอาการเหลืองหรือไม่สมบูรณ์ ให้ใส่ปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) อัตรา 25 กิโลกรัมต่อไร่ โรยข้างต้นในขณะดินมีความชื้นหรือให้น้ำตาม

การกำจัดวัชพืช มีวิธีดังนี้

การฉีดยาคุมวัชพืช  ใช้อลาคลอร์ ฉีดพ่นลงดินหลังจากปลูกก่อนที่วัชพืชจะงอกขณะฉีดพ่นดินควรมีความชื้นเพื่อทำให้ยามีประสิทธิภาพดีขึ้น

ใช้วิธีการเขตกรรม หากจำเป็นต้องใช้สารเคมีจะต้องได้รับคำแนะนำจากนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง

การให้น้ำ ระยะที่ข้าวโพดข้าวเหนียวขาดน้ำไม่ได้คือระยะ 7 วันแรกหลังปลูก เป็นระยะที่ข้าวโพดกำลังงอก ถ้าข้าวโพดข้าวเหนียวขาดน้ำช่วงนี้จะทำให้การงอกไม่ดี จำนวนต้นต่อพื้นที่ก็จะน้อยลงจะทำให้ผลผลิตลดลงไปด้วย ระยะที่ขาดน้ำไม่ได้อีกช่วงหนึ่งคือระยะออกดอก การขาดน้ำในช่วงนี้จะมีผลทำให้การผสมเกสรไม่สมบูรณ์ การติดเมล็ดไม่ดี ติดเมล็ดไม่เต็มถึงปลายหรือติดเมล็ดเป็นบางส่วน ทำให้ขายได้ราคาต่ำ โดยปกติถ้าเป็นพื้นที่ที่สามารถให้น้ำได้ควรให้น้ำทุก 3-5 วัน ขึ้นกับสภาพต้นข้าวโพดและสภาพอากาศ แต่ช่วงที่ควรให้น้ำถี่ขึ้นคือช่วงที่ข้าวโพดกำลังงอกและช่วงออกดอก

การเก็บเกี่ยว โดยปกติข้าวโพดข้าวเหนียวจะเก็บเกี่ยวเมื่อมีอายุประมาณ 60-70 วันหลังปลูก  แต่ระยะที่เหมาะสมสำหรับการเก็บเกี่ยวที่สุด คือ ระยะ 18-20 วันหลังข้าวโพดออกไหม 50 เปอร์เซ็นต์ (ข้าวโพด 100 ต้นมีไหม 50 ต้น) แต่ถ้าปลูกในช่วงอากาศหนาวเย็นอายุการเก็บเกี่ยวอาจจะยืดออกไปอีก ส่วนผลิตที่เก็บได้ต่อไร่ประมาณ 1,500 – 3,000 กิโลกรัม จำหน่ายกิโลกรัมประมาณ 6-8 บาท

ผู้สนใจติดต่อได้ที่ร้านค้าตัวแทนจำหน่ายใกล้บ้านท่าน หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ บริษัท แปซิฟิค เมล็ดพันธุ์ จำกัด เลขที่ 1 หมู่ 13 ต.พระพุทธบาท อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี 18120 โทร.0-3626-6316-9 www.pacthai .co.th.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น